อย่างที่ทราบกันว่า จป หัวหน้างาน หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยตำแหน่ง ซึ่งหากเป็นหัวหน้างานก็จะต้องเป็น จป หัวหน้างานด้วยเช่นกัน
แต่ถ้าหากหัวหน้างานไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็น จป หัวหน้างานได้ นายจ้างต้องจัดให้หัวหน้างานได้รับการฝึกอบรม จป หัวหน้างาน เพื่อเป็น จป หัวหน้างาน
และ แจ้งชื่อเพื่อขึ้นทะเบียน เพื่อให้เป็น จป หัวหน้างาน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่กำหนดบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานทุกระดับ คือ กฎกระทรวง การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 วันนี้เราจะมาดูกันว่า จป หัวหน้างาน มีหน้าที่อะไรบ้าง
แม้ว่าหัวหน้างานจะมีหน้าที่ในการทำงานอื่นๆเป็นจำนวนมากแล้วแต่ด้วยตำแหน่งที่เป็นหัวหน้างานจึงไม่สามารถที่จะปฏิเสธหน้าที่ของจปหัวหน้างานได้ซึ่งหน้าที่ของจปหัวหน้างานที่ถูกกำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่า
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานมีหน้าที่ 10 ข้อดังต่อไปนี้
- กำกับดูแลลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ปฏิบัติตามคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
- วิเคราะห์งานในหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อค้นหาความเสี่ยงหรืออันตรายเบื้องต้นจากการทำงาน โดยอาจร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ
- จัดทำคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ เพื่อเสนอคณะกรรมการความปลอดภัยหรือนายจ้าง แล้วแต่กรณี และทบทวนคู่มือดังกล่าวตามที่นายจ้างกำหนด โดยนายจ้างต้องกำหนดให้มีการทบทวนอย่างน้อยทุก 6 เดือน
- สอนวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้องแก่ลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
- ตรวจสอบสภาพการทำงานของเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนลงมือปฏิบัติงานประจำวัน
- กำกับดูแลการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบ
- รายงานการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างต่อนายจ้าง และแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีหน่วยงานความปลอดภัย ให้แจ้งต่อหน่วยงานความปลอดภัยทันทีที่เกิดเหตุ
- ตรวจสอบหาสาเหตุการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ อันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับวิชาชีพ และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อนายจ้าง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า
- ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมความปลอดภัยในการทำงาน
- ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารมอบหมาย
สิ่งที่จะทำให้ จป หัวหน้างาน ทำหน้าได้อย่างถูกต้องและมีความเข้าใจในหน้าที่ของตนเอง สิ่งนั้นคือบุคคลนั้นจะต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับบทบาท และหน้าที่ของตนเองในด้านความปลอดภัยในการทำงาน โดยหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับ จป หัวหน้างาน ได้กำหนดไว้ 12 ชั่วโมง 4 หมวดวิชา ซึ่งในการฝึกอบรมนายจ้างสามารถจัดฝึกอบรมเองหรือจะใช้บริการผู้จัดฝึกอบรมที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายก็ได้ แต่ในการฝึกอบรม ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องเข้าอบรมเต็มเวลา และผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วย จึงจะได้หลักฐานการผ่านการฝึกอบรม จป หัวหน้างาน
สรุป
เมื่อมีการแจ้งขึ้นทะเบียน จป หัวหน้างาน เพื่อทำหน้าที่ด้านความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบกิจการแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง จป หัวหน้างาน พ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากหน้าที่ นายจ้างต้องแจ้งการพ้นจากตำแหน่งหรือหน้าที่ของ จป หัวหน้างานผู้นั้น ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทราบ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากหน้าที่